วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ม.เกริก จัดโครงการสัมมนาในหัวข้อ “The Journey from the Land of the Two Holy Mosques to the Homeland of Thailand”

 วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ม.เกริก จัดโครงการสัมมนาในหัวข้อ “The Journey from the Land of the Two Holy Mosques to the Homeland of Thailand” ให้กับนักศึกษาจากซาอุฯ เพื่อเชื่อมภาษาและวัฒนธรรมสองประเทศ

 เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจอิสลาม เอกการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ วิทยาลัยอิสลามนานาชาติกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ได้จัดโครงการสัมมนาในหัวข้อ “The Journey from the Land of the Two Holy Mosques to the Homeland of Thailand” โดยท่านศาสตราจารย์ ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ และคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ได้ขึ้นกล่าวต้อนรับ และได้รับเกียรติจากท่าน ดร.ธีระวิทย์ วงศ์เพรช ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มาเป็นประธานกล่าวเปิดงานในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพัฒนานักศึกษาไทยที่เกิดและเติบโตในประเทศซาอุดิอาระเบีย (มุวัลลัด) ระดับปริญญาตรี ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้จะมีบทบาทสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบีย และถือว่าเป็นผู้ที่เชียวชาญด้านภาษาอาหรับและเข้าใจวัฒนธรรมของอาหรับเป็นอย่างดี อันจะนำมาซึ่งการต่อยอดทางด้านการค้า การลงทุน การบริการ และสานความเข้าใจ ระหว่างชาวไทยและชาวอาหรับ และตอบโจทย์ต่อความต้องการของตลาดแรงงาน โดยโครงการดังกล่าวนี้ถูกจัดขึ้น ณ ห้องประชุมวิชาการนานาชาติ อาคาร 2 มหาวิทยาลัยเกริก
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ และคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ได้กล่าวว่า “การศึกษานั้นไม่เพียงแต่จะได้รับความรู้จากในห้องเรียนเท่านั้น แต่สามารถเรียนรู้ได้จากนอกห้องเรียนด้วยเช่นกัน” โดยการจัดงานดังกล่าวนี้ถือเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนของนักศึกษาและสามารถนำไปประยุคต์ใช้ได้ในอนาคต

 ท่าน ดร.ธีระวิทย์ วงศ์เพรช ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวว่า “ผมรู้สึกดีใจที่กลุ่มคนไทยในซาอุดีอาระเบีย และกลุ่มประเทศอาหรับอื่น ๆ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญกับประเทศไทยในมิติด้านการค้า การลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่กว่า 10,000 คน ของคนไทยในซาอุดิอาระเบีย มีถิ่นฐานอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มคนเหล่านี้ได้ส่งลูกหลานกลับมายังประเทศไทย ซึ่งต้องพบกับความท้าทายด้านการสื่อสารทางภาษาไทยและเกิดความยากลำบากในการเรียน อย่างไรก็ตามสถานการณ์เหล่านี้กลับถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นโอกาส ผมขอชื่นชมคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเกริกที่มีวิสัยทัศน์ และมีความเข้าใจต่อปัญหาของนักศึกษา มูวัลลัด ซึ่งได้ตัดสินใจรับนักศึกษาเข้าเรียน ณ มหาวิทยาลัยเกริก และได้เรียนกับคณาจารย์ที่มีคุณภาพที่จบมาจากประเทศอาหรับหลายแห่ง อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังสร้างบรรยากาศสำหรับการเรียนการสอน ด้านบริหารธุรกิจอิสลาม ในวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ซึ่งตรงกับความต้องการของนักศึกษาอย่างแท้จริง”

 โดยภายในงานมีกิจกรรมการรับฟังการอ่านบทกวีอาหรับ และการแสดงการเต้นพื้นเมืองอาหรับของนักศึกษาเอกการจัดการบริการฮัจญ์และอุมเราะห์ อีกทั้งยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “The Journey from the Land of the Two Holy Mosques to the Homeland of Thailand” โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญจากหลากหลายหน่วยงาน อันได้แก่ ดร. อะห์หมัด อะฟันดี้ ผู้อำนวยการฝ่ายการต่างประเทศ โรงพยาบาลสมิติเวช, คุณฮุเซ็น ฮัจยี หะมะ ผู้อำนวยการล่ามภาษาอาหรับ, คุณมุอัยยัด มูฮัมมัด ผู้อำนวยการฝ่ายบริการด้านภาษาอาหรับ, อาจารย์ริดวาน ตายะห์ อาบู ตาลีน เจ้าหน้าที่ในสถานทูตอาหรับอิมิเรตส์ ประจำประเทศไทย และอาจารย์ ดร.ปริญญา ประหยัดทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์แห่งประเทศ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้ความรู้แก่นักศึกษาและผู้เข้าร่วมงานทุกท่าน
นี่ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับนักศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมพัฒนาตนเองให้สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เป็นผู้ที่มีศักยภาพ และเป็นกำลังสำคัญของชาติในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศอาหรับ ซึ่งวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก มีความมุ่งหวังที่จะพลักดันพัฒนาและสร้างบุคลากรให้มีศักยภาพ โดยมีความพยายามที่จะสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อความร่วมมือทางด้านการศึกษาให้มีความก้าวหน้าและพัฒนาสืบไป

ประชาสัมพันธ์
โทร : 02-970-5820
  Fackbook