มหาวิทยาลัยเกริก เข้าคารวะเอกอัครราชทูตบาห์เรนประจำประเทศไทย

คณะผู้บริหารวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก เข้าคารวะเอกอัครราชทูตบาห์เรนประจำประเทศไทย


เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 นำโดยอาจารย์อำพล ขำวิลัย รองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ พร้อมด้วย นายฐานิศร์ ณ สงขลา อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปานามา ประเทศบาห์เรน ที่ปรึกษาวิทยาลัย ดร.บัณฑิต อารอมัน ผู้ช่วยคณบดี ดร.สมีธ อีซอ ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม อาจารย์อำพล ตระการฤกษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ และอาจารย์สุรพันธ์ อามินเซ็น เข้าพบ ฯพณฯ Ms. Muna Abbas Mahmood Radhi, เอกอัครราชทูตบาห์เรนประจำประเทศไทย โดยวิทยาลัยฯได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยในประเทศบาห์เรน การแลกเปลี่ยนนักศึกษา คณาจารย์ และการจัดทำโปรแกรมฝึกงานระยะสั้นกับบริษัทชั้นนำในประเทศบาห์เรน


ทั้งนี้ Ms. Muna Abbas Mahmood Radhi เอกอัครราชทูตบาห์เรน ได้กรุณาน้อมรับข้อเสนอและยินดีให้ความร่วมมือด้านการศึกษา ท่านยังได้ร่วมแสดงความยินดีที่มหาวิทยาลัยเกริก เปิดวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพขึ้น เพื่อผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพด้านการบริหารธุรกิจอิสลาม ซึ่งประเทศบาห์เรนและไทยมีความต้องการด้านทรัพยากรบุคคลที่จำเป็นต้องเข้ามาช่วยในเรื่องของการสร้างความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันยังขาดแขลนและยังไม่เข้าใจในบริบทของธุรกิจอิสลาม ดังนั้นวิทยาลัยฯ จึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรให้เข้าใจบริบทของวัฒนธรรมในการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างประเทศ


ในขณะที่อาจารย์อำพล ตระการฤกษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ ได้มีโอกาสแนะนำศูนย์ภาษาอาหรับที่กำลังขับเคลื่อนภายใต้วิทยาลัย ฯ และเป็นหน่วยงานกลางในการพัฒนาทักษะทางภาษาอาหรับให้กลุ่มนักวิชาชีพ เตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการที่จะเดินไปทำงานที่ประเทศบาห์เรน จัดอบรมหลักสูตรภาษาอาหรับระยะสั้น และเป็นหน่วยงานในการแปลภาษาอาหรับในหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สถานพยาบาล โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงเอกสารทางราชการด้วย


ในโอกาสนี้ นายฐานิศร์ ณ สงขลา อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงมานามา ประเทศบาห์เรน ได้เสนอให้สถานเอกอัครราชทูตบาห์เรน นำวิทยาลัยฯ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการกระชับความสัมพันธ์ในมิติด้านการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างไทยและบาห์เรน เพื่อเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนบริบทของวัฒนธรรมได้อย่างยั่งยืน


นอกจากนี้ ดร. สมีธ อีซอ ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านการเงินอิสลามของประเทศบาห์เรน ที่เป็นทั้งต้นแบบด้านการเงิน การลงทุน เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ และได้ขอให้เอกอัครราชทูตพิจารณาทำความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนนักวิชาการด้านการเงินอิสลามให้กับวิทยาลัยต่อไป


ท้ายนี้ อาจารย์อำพล ขำวิลัย รองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ได้กล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตที่ให้ความอนุเคราะห์และสนับสนุนวิทยาลัยฯ ต่อการพัฒนาการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจอิสลาม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้วิทยาลัยมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศด้านธุรกิจอิสลามนานาชาติ และเป็นสถาบันที่พัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้สามารถตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศบาห์เรนได้

กิจกรรม
โทร : 02-970-5820
  Fackbook